ประวัติวัดแสนตอง โดยคุณ นิทัศน์
ประวัติวัดแสนตอง : จากบันทึกใบลานของวัด วัดแสนตอง สร้างเมื่อ พ.ศ.1300 โดยหม่องอูหน่า ชาวไทยใหญ่ ได้อพยพพร้อมด้วยบริวาร จากเมืองตวน เมืองหาง ประเทศพม่า มาตั้งถิ่นฐานที่ริมแม่น้ำสะเมิง
ประชากรทั้งหมดต่างมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หม่องอูหน่าจึงคิดจะสร้างวัดขึ้น เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน จึงขอบริจาคปัจจัยจากชาวบ้าน ชาวบ้านจึงร่วมกันบริจาคเครื่องประดับที่นำติดตัวมา ส่วนมากเป็นทองคำ เมื่อได้ทองคำ (หรือ “ ตอง” ในภาษาเหนือ) แล้วจึงนำมาชั่ง รวมแล้วได้หนึ่งแสนพอดี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด “แสนตอง” นั่นเอง
เมื่อดำเนินการสร้างวัดแล้ว ได้นำเอาทองคำหลอมหล่อเป็นพระประธานในวิหาร ส่วนเครื่องประดับที่เหลือก็มาหลอมรวมกัน แล้วนำมาหล่อเป็นพุทธรูปปางต่าง ๆ
เมื่อเสร็จแล้วชาวบ้านจึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะมีประเพณีประจำวัด คือ ประเพณีสรงน้ำพระเจ้าแสนตอง โดยยึดเอาวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนเก้าเหนือ (ป๋าเวณีเก้าเป็ง) หรือในช่วงเดือนมิถุนายน และได้ถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
พระพุทธรูปในวัดแสนตองได้รับความเคารพบูชาจากประชาชนชาวสะเมิงเป็นอย่างมาก เมื่อถึงประเพณีสงกรานต์ของทุกปี จะมีขบวนแห่พระสิงห์ของวัดแสนตองจากหน้าวัดไป รอบ ๆ ตัวอำเภอ แล้วจะมีพิธีสรงน้ำพระสิงห์ที่หน้าที่ว่าการอำเภอสะเมิง
พอมาถึงปี พ.ศ. 2534 พระพุทธรูปถูกขโมยไปจำนวน สี่องค์ แต่คนร้ายไม่สามารถนำไปทั้งหมด ได้นำไปทิ้งที่หนองน้ำท้ายตลาดสดเทศบาลตำบลสะเมิงใต้ จำนวนสององค์ และอีกหลายครั้งที่มีคนพยายามจะขโมยพระ แต่ด้วยปาฏิหาริย์ของพระพุทธรูปจึงไม่สามารถนำไปได้ หลังจากนั้นจึงทำกรงเหล็กล้อมไว้เพื่อความปลอดภัย
เมื่อปี พ.ศ.2539 มีพระธุดงค์รูปหนึ่งได้นำพระธาตุของพระสีวลีมาถวายที่วัดแสนตองจำนวน 5 องค์ ต่อมาปรากฎว่ามีจำนวนพระธาตุเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ และนอกจากนั้นพระธาตุที่เสด็จมาเองล้วนเป็นอรหันตธาตุทั้งสิ้น จนถึงทุกวันนี้ก็ยังปรากฎให้เห็นว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ปีพุทธศักราช 2546 ได้รับเมตตาจากท่านครูบาบุญยัง เจ้าอาวาสวัดห้วยน้ำอุ่นอำเภอลี้ ลำพูน ได้นำพระบรมธาตุมาถวายไว้ที่วัดแสนตอง
เมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ 2552 หลังจากการประชุมเพลิงพระอธิการอ้าย จัตตสังวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดแสนตองแล้ว พระมนตรี รตนปุตโต รักษาการเจ้าอาวาส พร้อมกับคณะศรัทธาวัดแสนตอง จึงได้มีความเห็นที่จะสร้างพระธาตุ ชื่อ " พระธาตุก๊ำปาระมีเด่นสลี๋แสนตอง ” เพื่อใช้บรรจุพระบรมธาตุและพระอรหันตธาตุ และเพื่อให้เป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนในโอกาสต่อไป