ประวัติวัดแสนตอง

ประวัติวัดแสนตอง วัดแสนตอง ตั้งอยู่เลขที่ ๑ บ้านแสนตอง หมู่ที่ ๙ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อ ๕ ไร่ ๓ งาน อาณาเขต ทิศเหนือ จดที่ธรณีสงฆ์ของวัด ทิศใต้ จดทางสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันออก จดทางสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันตก จดที่เอกชน วัดแสนตอง สร้างเมื่อ พ.ศ.๑๓๐๐ (สันนิษฐานจากบันทึกใบลานของวัดแสนตอง)โดยหม่องอูหน่า ชาวไทยใหญ่ ได้อพยพพร้อมด้วยบริวาร จากเมืองตวน เมืองหาง ประเทศพม่า มาตั้งถิ่นฐานที่ริมแม่น้ำสะเมิง ในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและป่าสงวน ใครจะอยู่ที่ไหนตามใจชอบเมื่อตั้งตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นั้นมีประชากรเพิ่มมากขึ้น และประชากรทั้งหมดต่างมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หม่องอูหน่าจึงคิดจะสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน จึงขอบริจาคปัจจัยจากชาวบ้าน แต่เนื่องด้วยสมัยนั้นเป็นสังคมเกษตรกรรมจึงไม่มีปัจจัยมากพอที่จะสร้างวัดได้ ชาวบ้านจึงร่วมกันบริจาคเครื่องประดับที่นำติดตัวมา ส่วนมากเป็นทองคำ เมื่อได้ทองคำ หรือ “ตอง” ในภาษาเหนือแล้วจึงนำมาชั่ง ในสมัยนั้นมีเครื่องชั่งอยู่ชนิดหนึ่งมีลักษณะสั้นกว่าเครื่องชั่งในปัจจุบัน ในเครื่องชั่งนั้นจะมีอยู่สิบขีด (ไม่ทราบหน่วย) เมื่อชั่งได้สิบขีดจะเท่ากับหนึ่งพัน ชาวบ้านจึงช่วยกันชั่งทองคำจนหมด รวมแล้วได้หนึ่งแสนพอดี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด “แสนตอง” นั่นเอง เมื่อดำเนินการสร้างวัดแล้ว ได้นำเอาทองคำหลอมหล่อเป็นพระประธานในวิหาร ส่วนเครื่องประดับที่เหลือก็มาหลอมรวมกัน แล้วนำมาหล่อเป็นและพุทธรูปปางต่าง ๆ มีขนาดตั้งแต่ หนึ่งนิ้ว ไปจนถึงสามสิบนิ้ว โดยเฉพาะขนานหนึ่งนิ้วมีเป็นจำนวนมาก เมื่อเสร็จแล้วชาวบ้านจึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะมีประเพณีประจำวัด คือ ประเพณีสรงน้ำพระเจ้าแสนตอง โดยยึดเอาวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนเก้าเหนือ (ป๋าเวณีเก้าเป็ง) หรือในช่วงเดือนมิถุนายน และได้ถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เมื่องานสรงน้ำพระเสร็จลง สามเณรจะมีหน้าที่เก็บพระพุทธรูปเข้าเก็บไว้ที่เดิม สมัยนั้นเล่ากันว่า เณรน้อยจะนำพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ มาใช้แทนเงินในการเล่นขายของ ต่อมาพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ เหล่านั้นค่อยหายไปทีละองค์สององค์ พระพุทธรูปในวัดแสนตองได้รับความเคารพบูชาจากประชาชนชาวสะเมิงเป็นอย่างมาก เมื่อถึงประเพณีสงกรานต์ของทุกปี จะมีขบวนแห่พระสิงห์ของวัดแสนตองจากหน้าวัดไป รอบ ๆ ตัวอำเภอ แล้วจะมีพิธีสรงน้ำพระสิงห์ที่หน้าที่ว่าการอำเภอสะเมิง พอมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๔ พระพุทธรูปถูกขโมยไปจำนวน สี่องค์ แต่คนร้ายไม่สามารถนำไปทั้งหมด ได้นำไปทิ้งที่หนองน้ำท้ายตลาดสดเทศบาลตำบลสะเมิงใต้ จำนวนสององค์ และอีกหลายครั้งที่มีคนพยายามจะขโมยพระ แต่ด้วยปาฏิหาริย์ของพระพุทธรูปจึงไม่สามารถนำไปได้ หลังจากนั้นจึงทำกรงเหล็กล้อมไว้เพื่อความปลอดภัย เจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม รูปที่๑ ครูบาม่อน รูปที่๒ ครูบาโปธิ รูปที่๓ ครูบาปัญญา รูปที่๔ พระบุญปั๋น รูปที่๕ พระต๋าคำ รูปที่๖ พระอิ่นแก้ว (พ.ศ.๒๔๘๙ – พ.ศ.๒๔๙๖) รูปที่๗ พระบุญสม จิตฺธมฺโม (พ.ศ.๒๔๙๗ – พ.ศ.๒๕๐๐) รูปที่๘ พระบุญปั๋น พุทฺธสโร (พ.ศ.๒๕๐๑ – พ.ศ.๒๕๑๐) รูปที่๙ พระสมุห์ศรีรัตน์ จนฺทธมฺโม (พ.ศ.๒๕๑๑ - ๒๕๒๖) รูปที่๑๐ พระติ๊บ (พ.ศ.๒๕๒๘ - ๒๕๒๙) รูปที่๑๑ พระณรวย (พ.ศ.๒๕๓๐) รูปที่๑๒ พระอธิการอ้าย จตฺตสงฺวโร (พ.ศ.๒๕๓๒ – ๒๕๕๑) รูปที่๑๓ พระมนตรี รตนปุตฺโต (พ.ศ.๒๕๕๑ – ปัจจุบัน)
เมื่อปี พ.ศ.2539 มีพระธุดงค์รูปหนึ่งได้นำพระธาตุของพระสีวลีมาถวายที่วัดแสนตองจำนวน 5 องค์ต่อมาปรากฎว่ามีจำนวนพระธาตุเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆและนอกจากนั้นพระธาตุที่เสด็จมาเองล้วนเป็นอรหันธาตุทั้งสิ้นจนถึงทุกวันนี้ก็ยังปรากฎให้เห็นว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ปีพุทธศักราช 2546 ได้รับเมตตาจากท่านครูบาบุญยัง เจ้าอาวาสวัดห้วยน้ำอุ่นอำเภอลี้ ลำพูน ได้นำพระบรมธาตุมาถวายไว้ที่วัดแสนตอง และต้นเดือนมีนาคม พ.ศ 2552 หลังจากการประชุมเพลิงพระอธิการอ้าย จัตตสังวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดแสนตอง พระมนตรี รตนปุตโต รักษาการเจ้าอาวาส พร้อมกับคณะศรัทธาวัดแสนตองจึงได้มีความเห็นที่จะสร้างพระธาตุชื่อ "พระธาตุก๊ำปาระมีเด่นสลี้แสนตอง" เพื่อใช้บรรจุพระบรมธาตุและพระอรหันธาตุ และเพื่อให้เป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนชนในโอกาสต่อไป